วันนี้ ( 1 ก.ค.2568) นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์คนใหม่ก็เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เชื่อว่าจะสามารถทำงานได้ ซึ่งทางนายจตุพร ได้ติดต่อประสานงานมายังสรท. โดยขอความเห็นเกี่ยวกับการผลักดันการส่งออก แนวทางใดที่สรท.ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันบ้าง ซึ่งตนได้ส่งข้อเสนอเบื้องต้นไปแล้ว
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
โดยยึดข้อเสนอเดิมที่ได้เคยได้หารือกับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พาณิชย์ ไปก่อนหน้านี้ ที่เพิ่มเติมเข้าไปคือ ต้องการให้ฟื้นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์ )ซึ่งตนได้มีการหารือกับประธานสภาอุตสาหกรรมฯและประธานหอการการค้าไทยแล้วโดยเห็นตรงกันเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของไทย
ทั้งสรท.เห็นว่า เรื่องสำคัญเร่งด่วนที่รมว.พาณิชย์จะต้องเร่งทำคือ การรับมือกับภาษีตอบโต้สหรัฐ ซึ่งขณะนี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมทีมเจรจาได้บินสหรัฐเพื่อพูดคุยกับยูเอสทีอาร์ ไม่ได้คุยกับรัฐมนตรีการคลังและรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ แล้ว ซึ่งก็ต้องรอผลการเจรจา แต่มองในภาพรวมการเจรจาภาษีทรัมป์ก็ยังไม่ชัด
และแม้ว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจจีนและสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าแล้วแต่ผู้นำสูงสุด 2 ประเทศก็ไม่ยอมลงนามทั้งที่ใกล้วันสุดท้าย 9 ก.ค.ของการเลื่อนบังคับใช้ และเมื่อถึงวันนั้นอาจทำให้โลกปั่นป่วนได้ หากไม่มีข้อยุติ โดยสหรัฐบังคับใช้ภาษีตอบโต้ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านั้น หรือไม่ก็เลื่อนการบังคับใช้ไปก่อน
นอกจากนี้ นายธนากร กล่าวถึงกรณีที่นายกฯถูกศาลวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้นก็มองว่า นายกฯยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทวงวัฒนธรรม ก็ยังเข้าทำหน้าที่ได้ และเข้าร่วมประชุมครม.ได้ ซึ่งครม.มีมติก็ยังมีผลเป็นทางการ แต่หากมีคำสั่งให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งน่าจะมีผลมากกว่า
ไอเอ็มบี ไทย ชี้ ภาษีทรัมป์ป่วนโลกการค้าอีกรอบ
ด้านดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและอีกหลายประเทศรอบใหม่ในเดือนกรกฎาคม เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐขาดดุลการค้า แม้อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจะน้อยกว่าที่เคยประกาศไว้ในเดือนเม.ย. ขณะเดียวกัน ทรัมป์น่าจะยังคงเก็บอัตราภาษีที่ 10% กับชาติที่สหรัฐเกินดุลการค้าด้วย แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางสินค้า ขึ้นอยู่กับการต่อรองแลกเปลี่ยนที่แต่ละประเทศจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นอกจากนี้ ทรัมป์น่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าบางรายการในอัตรา 10-25% เพื่อสร้างอุตสาหกรรมในประเทศและลดแรงจูงใจในการนำเข้า เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ยานยนต์และชิ้นส่วน หรืออาจครอบคลุมถึงกลุ่มเวชภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงหรือจัดเก็บภาษีสูงกว่าคาด อาจมีผลกระทบทางอ้อมต่อไทยในฐานะประเทศในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีนหรือมีการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งจะกดดันภาคส่งออกไทยในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง
จี้รัฐฯ-พาณิชย์ เร่งหาตลาดหนีภาษีทรัมป์
ทั้งนี้ ไทยต้องเร่งขยายตลาดการค้าใหม่ กระชับความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน และใช้อาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยต่อสหรัฐ ขณะเดียวกัน ไทยสามารถใช้อาเซียนต่อรองกับจีนในการลดการใช้ไทยเป็นทางผ่านของสินค้าส่งออกไปสหรัฐ โดยที่ไทยไม่ได้มูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้ามากเท่าที่ควร ดังเห็นได้จากดัชนีภาคการผลิตของไทยต่ำ ฟื้นตัวได้น้อย ต่างกับการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีและการนำเข้าเร่งตัวขึ้นสูงตาม มองต่อไป
คาดว่าส่งออกจะเริ่มขยายตัวต่ำช่วงไตรมาส 3 และพลิกไปหดตัวในช่วงไตรมาส 4 ส่งผลให้ทั้งปี การส่งออกขยายตัวได้เพียง 3.5% ส่วนผลกระทบ หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ศาลฯมตินายกฯหยุดปฎิบัติงาน กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน
ดร.อมรเทพ กล่าวอีกว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ส่งผลให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองกำลังกดดันเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องหลัก คือ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน อีกทั้งเอกชนอาจระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายได้ ความเชื่อมั่นอาจไม่ลดลงมากนัก แต่ให้ระวังเสถียรภาพรัฐบาลหากพรรคร่วมมีแรงกดดันให้ทบทวนจุดยืนหรือเกิดการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นในทันที
รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอาจจำกัดขึ้น แม้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ไม่น่ามีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย
โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง รองนายกฯ สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ได้ แต่การตอบสนองต่อเงินจากมาตรการทางการคลังที่ใส่ไปในระบบเศรษฐกิจอาจมีประสิทธิผลน้อยลงหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภาฯ ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้ากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า
และผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย แม้อาจจะไม่กระทบในระยะสั้น ซึ่งตัวแทนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐน่าจะได้พบคุยกันตามกำหนดการเดิม แต่ห่วงว่าสหรัฐฯอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น
ทางออกคือรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องการปรับเปลี่ยนผู้นำประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองกลายเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญนี้
อ่านข่าว:
เอกชน ให้โอกาส ครม.แพทองธาร 2 หวังเร่งเครื่องเศรษฐกิจ ครึ่งปีหลัง
เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังเสี่ยงสูง เกียรตินาคินภัทรฯ หั่นจีดีพีเหลือ 1.6%
ไทยน่าลงทุน 5 เดือนต่างชาติลงทุนแตะ 9 หมื่นล้านบาท